สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์
เลขที่ 400/65 ถนนสวรรค์วิถี ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 60000
โทรศัพท์ : 05 622 1104 Email : nw_ops@moc.go.th
จังหวัดนครสวรรค์
นครสวรรค์ เป็นเมืองโบราณซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีโดยมีปรากฏชื่อในศิลาจารึกเรียกว่า เมืองพระบาง เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการทำศึกสงครามมาทุกสมัย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวเมืองดังเดิมตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาขาด (เขาฤาษี) จรดวัดหัวเมือง (วัดนครสวรรค์) ยังมีเชิงเทินดินเป็นแนวปรากฏอยู่ เมืองพระบาง ต่อมาได้เป็นเป็น เมืองชอนตะวัน เพราะตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และหันหน้าเมืองไปทางแม่น้ำซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกทำให้แสงอาทิตย์ส่องเข้าหน้าเมืองตลอดเวลา แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น เมืองนครสวรรค์ เป็นศุภนิมิตอันดีนครสวรรค์ มีชื่อเรียกเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาแต่เดิมว่า ปากน้ำโพ โดยปรากฏเรียกกันมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามประวัติศาสตร์ในคราวที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กองทัพเรือจากกรุงศรีอยุธยาได้ยกไปรับทัพข้าศึกที่ ปากน้ำโพ แต่ต้านทัพข้าศึกไม่ไหว จึงล่าถอยกลับไป
ที่มาของคำว่า ปากน้ำโพ สันนิษฐานได้ 2 ประการ คือ อาจมาจากคำว่า ปากน้ำโผล่ เพราะเป็นที่ปากน้ำปิง ยม และน่าน มาโผล่รวมกันเป็น ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา หรืออีกประการหนึ่ง คือ มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ตรงปากน้ำในบริเวณวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อกวนอูในปัจจุบัน จึงเรียกกันว่า ปากน้ำโพธิ์ ก็อาจเป็นได้ ในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงนำพระพุทธรูปชื่อ พระบาง มาค้างไว้
ที่เมืองนี้ต่อมาไทยรบทัพจับศึกกับพม่าและปราบหัวเมืองฝ่ายเหนือที่แข็งเมืองยกมาตีกรุงศรีอยุธยาและตอนต้นกรุงเทพฯ กองทัพไทยได้ยกเคลื่อนที่ขึ้นมาเลือกนครสวรรค์ (ที่เคยเป็นโรงทหารเก่าหลังโรงเหล้าปัจจุบัน) เป็นที่ตั้งทัพหลวงแล้วดัดแปลงขุดคูประตูหอรบ จากตะวันตกตลาดสะพานดำไปบ้านสันคูไปถึงทุ่งสันคู เดี๋ยวนี้ ยังปรากฏแนวคูอยู่ เมื่อข้าศึกยกลงมาจากทุ่งหนองเบน หนองสังข์ สลกบาตร และตะวันออกเฉียงใต้ของลาดยาวมาเหนือทุ่งสันคู เมื่อฤดูแล้งเป็นที่ดอนขาดน้ำ ถ้าฝนตกน้ำก็หลากเข้ามาอย่างแรงท่วมข้าศึกไทยยกทัพตีตลบหลัง พม่าวิ่งหนีผ่านช่องเขานี้จึงได้ชื่อว่า เขาช่องขาด มาจนบัดนี้
เมืองนครสวรรค์เป็นหัวเมืองชั้นตรีซึ่งปรากฏอยู่ตามกฎหมายเก่าในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ราว พ.ศ. 2100 ว่าด้วยเรื่องดวงตราประทับหนังสือที่ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงใช้ในราชการ
ที่ตั้งและขนาด
-พื้นที่ของจังหวัด 9,597.677 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,998,548 ไร่
อาณาเขต
ติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอปางศิลาทอง อำเภอขาณุวรลักษบุรี อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอบึงนาราง อำเภอโพทะเล อำเภอบางมูลนาก อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอชนแดน อำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอโคกเจริญ อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี อำเภอสรรพยา อำเภอมโนรมย์ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอเมืองอุทัยธานี อำเภอทัพทัน อำเภอสว่างอารมณ์ อำเภอลานสัก อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิศาสตร์โดยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเกษตร เป็นที่ราบประมาณ ๓ ใน ๔ ของพื้นที่จังหวัด มีแม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำปิง แม่น้ำยม และ แม่น้ำน่าน ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านช่วงกลางของจังหวัด และมีเพียง ๖ อำเภอที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำสายหลัก สภาพภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัด มีภูเขาสลับซับซ้อนและเป็นป่าทึบในเขตอำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปินและอำเภอชุมตาบง พื้นที่ป่าของจังหวัดเป็นสภาพป่าที่เชื่อมโยงติดต่อกับป่าห้วยขาแข้งของจังหวัดอุทัยธานีในส่วนทางใต้ของอำเภอแม่วงก์ ส่วนตอนบนของอำเภอแม่วงก์และอำเภอลาดยาวเป็นส่วนติดต่อกับป่าทึบของจังหวัดตากที่เชื่อมโยงไปถึงป่าทุ่งใหญ่นเรศวรของจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนด้านตะวันออกของจังหวัด อำเภอหนองบัวและอำเภอไพศาลี เป็นพื้นที่ราบลาดเทติดต่อกับเทือกเขาเพชรบูรณ์
สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด เป็นที่ราบค่อนข้างเรียบแคบบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโดยเฉพาะตอนกลางของจังหวัด ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอชุมแสง อำเภอท่าตะโก อำเภอโกรกพระ อำเภอเก้าเลี้ยว และอำเภอพยุหะคีรี สภาพพื้นที่ทางทิศตะวันตก (เขตอำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปินและอำเภอชุมตาบง) และทิศตะวันออก (เขตอำเภอหนองบัว อำเภอไพศาลี อำเภอตากฟ้าและอำเภอตาคลี) มีลักษณะเป็นแบบลอนลูกคลื่น ยกตัวขึ้นจากตอนกลางของจังหวัดสูงจากระดับน้ำทะเล ปานกลาง ๒๐-๑๐๐ เมตร
ลักษณะภูมิอากาศ
มีลักษณะอากาศร้อนชื้น มีช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งที่เห็นชัดเจน ฤดูฝนได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อยู่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม - กลางเดือนตุลาคม และจะมีฝนตกชุกในเดือนกันยายน – ตุลาคม ส่วนฤดูหนาวได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม - กลางเดือนกุมภาพันธ์ และจะมีอากาศหนาวเย็นในช่วงปลายเดือนธันวาคม – กลางเดือนมกราคม
สำหรับปี ๒๕๖๐ เดือน ธันวาคม มีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ ๑๑.๕ องศาเซลเซียส และช่วงเดือน มีนาคม – เดือน พฤษภาคม มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ ๔๑.๒ องศาเซลเซียสในเดือน พฤษภาคม ๒๕๖๐ อุณหภูมิเฉลี่ย ๒๘.๔๗ องศาเซลเซียส ปริมาณฝนทั้งปีวัดได้ ๑,๗๖๐.๕ มิลลิเมตร และมีฝนตกทั้งหมด ๑๓๐ วัน
ส่วนปี ๒๕๖๑ เดือน มกราคม มีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ ๑๕.๙ องศาเซลเซียส และช่วงเดือน มีนาคม – เดือน พฤษภาคม มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ ๔๐.๓ องศาเซลเซียสในเดือน พฤษภาคม ๒๕๖๑ อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีได้ ๒๘.๖๖ องศาเซลเซียส ปริมาณฝนทั้งปีวัดได้ ๙๑๑.๒ มิลลิเมตร และมีฝนตกทั้งหมด ๑๑๘ วัน
สภาพภูมิอากาศของจังหวัดนครสวรรค์ สัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี หากปีใดปริมาณน้ำฝนมากกว่า ๑,๒๐๐ มิลลิเมตรต่อปี จะเกิดปัญหาน้ำท่วม ถ้าปริมาณฝนต่ำกว่า ๑,๐๐๐ มิลลิเมตรต่อปี จะประสบปัญหาฝนแล้ง ทั้งนี้สืบเนื่องจากสภาพพื้นที่ของจังหวัดที่มีลักษณะคล้ายท้องกระทะหรือผีเสื้อกางปีกบิน
เขตการปกครอง
จังหวัดนครสวรรค์ จัดรูปการปกครองตามลักษณะการปกครองส่วนภูมิภาค โดยแบ่งออกเป็น ๑๕ อำเภอ ๑,๔๓๒ หมู่บ้าน ๑๒๘ ตำบล และจัดรูปการปกครองตามลักษณะการปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด ๑ แห่ง เทศบาล ๒๑ แห่ง (เทศบาลนคร ๑ แห่ง เทศบาลเมือง ๒ แห่ง เทศบาลตำบล ๑๘ แห่ง) และองค์การบริหารส่วนตำบล ๑๒๑ แห่ง
ประชากร
จำนวนประชากร ๑,๐๕๙,๘๘๗ คน
ชาย ๕๑๗,๗๒๓ คน (ร้อยละ ๔๘.๘๗)
หญิง ๕๔๒,๑๖๔ คน (ร้อยละ ๕๑.๑๓)
ความหนาแน่นของประชากร 1 : 119 (1 ตร.กม. / ประชากร)
อำเภอที่หนาแน่นมากที่สุด คือ อำเภอเมืองนครสวรรค์
อำเภอที่หนาแน่นน้อยที่สุด คือ กิ่งอำเภอชุมตาบง
สถิติชีพ ปี 2547
อัตราการเกิด/ประชากร 1,000 คน เท่ากับ 8.54
อัตราการตาย/ประชากร 1,000 คน เท่ากับ 4.06
การคมนาคม
จังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่เป็นประตูสู่ภาคเหนือ การเดินทางติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ นับได้ว่าสะดวกมาก เส้นทางการติดต่อทางถนนระหว่างจังหวัดต่าง ๆ มีเส้นทางสายหลัก ๆ ดังนี้
การคมนาคมทางรถยนต์
๑. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ (พหลโยธิน) จากกรุงเทพฯ ผ่านนครสวรรค์ไปสิ้นสุดที่เชียงราย เป็นเส้นทางสายหลักและสายดั้งเดิมที่ใช้ในการคมนาคมเชื่อมระหว่างภาคเหนือกับภาคกลาง เส้นทางสายนี้ส่วนใหญ่เป็นเส้นทาง ๒ เลน ขณะนี้ถนนช่วงนครสวรรค์ – กำแพงเพชร เป็น ๔ เลนแล้ว กำลังมีการขยายไปถึงจังหวัดเชียงใหม่
๒. ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๓๒ (บางปะอิน – นครสวรรค์) เป็นเส้นทางหลวงแผ่นดินที่แยกออกจากเส้นทางหมายเลข ๑ เริ่มจากอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลัดสู่นครสวรรค์ เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทาง ๘ เลน ทำให้การเดินทางสู่จังหวัดนครสวรรค์สะดวกและรวดเร็วมาก ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงครึ่ง ในระยะทาง ๒๓๗ กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงนครสวรรค์ เส้นทางนี้ประสานต่อกับเส้นทางหมายเลข ๑ ที่จังหวัดนครสวรรค์มุ่งสู่จังหวัดเชียงราย
๓. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑ เป็นทางหลวงที่แยกจากเส้นทางหมายเลข ๓๒ (อินทร์บุรี –เขาทราย) ตรงอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่านอำเภอตากฟ้า ท่าตะโก หนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เข้าสู่จังหวัดพิษณุโลก ไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงใหม่ ตามเส้นทางสายนี้มีถนนเชื่อมเข้าตัวอำเภอไพศาลี ตาคลี ท่าตะโก อำเภอเมืองฯ และอำเภอชุมแสง และมีถนนเครือข่ายเชื่อมอำเภอต่าง ๆ ที่กล่าวด้วย
๔. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑๗ เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างจังหวัดนครสวรรค์กับจังหวัดพิษณุโลก โดยผ่านทางอำเภอเก้าเลี้ยว อำเภอบรรพตพิสัย ออกทางอำเภอโพทะเลของจังหวัดพิจิตรไปสู่จังหวัดพิษณุโลก ทำให้การติดต่อไปยังจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตรสะดวกและรวดเร็วขึ้นมาก (ระยะทางประมาณ ๑๓๑ กิโลเมตร)
๕. ทางหลวงแผ่นดิน ๒๒๕ (นครสวรรค์–ชัยภูมิ) เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างนครสวรรค์กับจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคอีสาน เส้นทางนี้ผ่านทางอำเภอชุมแสง อำเภอหนองบัว ตัดผ่านเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๑, ๒๑ ที่อำเภอหนองบัว อำเภอบึงสามพัน (จังหวัดเพชรบูรณ์) สู่จังหวัดชัยภูมิ
การเดินทางติดต่อกับจังหวัดข้างเคียง มีเส้นทางเชื่อมต่อผ่านอำเภอต่างๆ มากมายพอสรุป เป็นหลักใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
๑. กรุงเทพฯ (ผ่านสระบุรี - ลพบุรี - ชัยนาท) ตามเส้นทางหมายเลข ๑
๒. กรุงเทพฯ (ผ่านบางบัวทอง - สุพรรณบุรี - ชัยนาท) ตามเส้นทางหมายเลข ๓๔๐ เข้าสู่ เส้นทางหมายเลข ๑ ชัยนาท ผ่านเข้าพยุหะคีรี หรือเส้นทางสายเอเชีย (บางปะอิน - นครสวรรค์)
ตามเส้นทางหมายเลข ๓๒
๓. ชัยนาท – อำเภอเมืองนครสวรรค์ ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร
๔. อุทัยธานี – อำเภอเมืองนครสวรรค์ ผ่านทางอำเภอโกรกพระ (หมายเลข ๓๒๒๐,
๓๓๑๙ และ ๓๐๐๕) ประมาณ ๓๖ กิโลเมตร ผ่านทางถนนสายเอเชีย (หมายเลข ๓๓๓ และ ๓๒) ประมาณ ๔๗ กิโลเมตร
๕. พิษณุโลก – อำเภอเมืองนครสวรรค์ ประมาณ ๑๓๑ กิโลเมตร
๖. พิจิตร – อำเภอเมืองนครสวรรค์ ประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร
๗. สุพรรณบุรี (ผ่านถนนหมายเลข ๓๔๐) ประมาณ ๑๕๕ กิโลเมตร
๘. สิงห์บุรี (ผ่านถนนเอเชีย หมายเลข ๓๒ , ๑) ประมาณ ๙๕ กิโลเมตร
๙. ลพบุรี (ผ่านถนนเอเชีย หมายเลข ๓๒ , ๑) ประมาณ ๑๓๕ กิโลเมตร
๑๐. กำแพงเพชร (ผ่านถนนพหลโยธิน หมายเลข ๑) ประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร
๑๑. ตาก (ผ่านถนนพหลโยธิน หมายเลข ๑) ประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร
๑๒. เพชรบูรณ์ (ผ่านทางถนนหมายเลข ๒๒๕ และแยกเข้าถนนหมายเลข ๒๑) ประมาณ ๑๙๒ กิโลเมตร
โดยมีเส้นทางคมนาคมขนส่งในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ แบ่งเป็น
ทางหลวงแผ่นดิน ในความดูแลของแขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ ๑ และแขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ ๒ (ตากฟ้า) กรมทางหลวง จำนวน ๔๙ สายทาง ระยะทาง ๑,๑๐๓.๗๕๘ กิโลเมตร
ทางหลวงชนบท ในความดูแลของแขวงทางหลวงชนบทนครสวรรค์ กรมทางหลวงชนบท จำนวน ๔๗ สายทาง ระยะทาง ๗๓๒.๕๐๙ กิโลเมตร ทางหลวงท้องถิ่น ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คมนาคมทางรถไฟ
จังหวัดนครสวรรค์มีเส้นทางรถไฟ มีสถานีรถไฟ ๑๕ สถานี ผ่านตัวอำเภอต่างๆ ได้แก่ อำเภอตาคลี อำเภอเมืองนครสวรรค์ และอำเภอชุมแสง
การคมนาคมทางอากาศ
จังหวัดนครสวรรค์ ไม่มีสนามบินพาณิชย์ มีแต่สนามบินของกองบิน ๔ อำเภอตาคลี ซึ่งเดิมเคยใช้เป็นสนามบินของกองทัพอเมริกัน ที่มีศักยภาพสูงสำหรับเครื่องบินไอพ่น และสนามบินเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศักยภาพของสนามบินเหล่านี้สามารถปรับเป็นสนามบินพาณิชย์ได้ อัตราเพิ่มร้อยละ 0.45
ขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญ
๑) ประเพณีแห่เจ้าพ่อ - เจ้าแม่ เป็นประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อความเป็นสิริมงคล การแห่เจ้านี้เริ่มทำครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พิธีแห่จะตรงกับวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑ ของชาวจีน โดยแห่กลางคืน (ชิวชา) และกลางวัน (ชิวสี่) ในขบวนแห่ประกอบไปด้วย ขบวนเชิดมังกรทอง ขบวนเชิดสิงโต ขบวนเอ็งกอ นอกจากนี้ ยังมีขบวนรถนางฟ้า เจ้าแม่กวนอิม และขบวนดนตรีจีน ฯลฯ ปัจจุบัน ประเพณีแห่เจ้านี้ จัดทั้งในอำเภอชุมแสง อำเภอเก้าเลี้ยว อำเภอลาดยาว อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอหนองบัว และในอำเภอเมืองนครสวรรค์ แต่ที่ยิ่งใหญ่มากจะเป็นประเพณีแห่เจ้าแม่ปากน้ำโพ ในอำเภอเมืองนครสวรรค์
๒) ประเพณีการแข่งเรือ ประเพณีแข่งเรือของชาวจังหวัดนครสวรรค์ จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลออกพรรษา โดยวัดที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะจัดรวมกับงานประจำปีของวัด เช่น งานปิดทองไหว้พระของวัดเขา (วัดจอมคีรีนาคพรต) งานประจำปีของวัดเกาะหงษ์ ในงานจะมีการนำเรือขนาดกลาง หรือเรือขนาดเล็กจากสถานที่ต่าง ๆ มาทำการแข่งขันกันมีเสียงเชียร์อย่างสนุกสนาน ปัจจุบันได้จัดประเพณีแข่งเรือของชาวจังหวัดนครสวรรค์ ที่หน้าศาลากลางจังหวัด มีการแข่งขันชิงรางวัลถ้วยพระราชทานของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการแข่งขันเรือจะจัดขึ้น ๒ วัน
๓) ประเพณีสงกรานต์ ของชาวจังหวัดนครสวรรค์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในแต่ละท้องถิ่น โดยจะมีการตักบาตรข้าวสาร และอาหารแห้งภายในวัด และสถานที่ราชการ มีการสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เล่นสาดน้ำ แต่ที่น่าสนใจ ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านเขาทอง ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครสวรรค์ เป็นระยะทางประมาณ ๑๙ กิโลเมตร ชาวบ้านเขาทองจะทำบุญ ในตอนเช้า เวลาบ่ายจะไปรวมตัวกันที่ลานวัด มีการละเล่นในประเพณีตรุษสงกรานต์ ได้แก่ การละเล่น จับข้อมือสาวนางสุ่ม นางสาก นางควาย และการร้องรำทำเพลง ได้แก่ การละเล่นรำโทนหรือรำวง ได้แพร่หลายความนิยมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓
๔) ประเพณีการเลี้ยงข้าวแช่ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมานับร้อยปี ของชาวบ้านบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ จัดขึ้นในเทศกาลสงกรานต์เพียงวันเดียว โดยมีกำหนดให้ตรงกับวันหยุดราชการ เพื่อให้ชาวบ้านบอกญาติพี่น้อง ซึ่งอยู่สถานที่ต่าง ๆ มาร่วมทำบุญ เหมือนเป็นการประชุมญาติพี่น้องของแต่ละบ้านด้วย วันที่ ๑๔ เมษายน ชาวบ้านทุกคนจะไปร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์บนศาลาการเปรียญ มรรคทายกจะประกาศให้ทราบว่า สงกรานต์ปีนี้จะทำบุญกี่วัน วันก่อนสุดท้ายของการทำบุญสงกานต์จะมีการนำอัฐิของบรรพชนไปตั้งรวมกัน ณ ศาลาการเปรียญ มีการสวดอภิธรรม ระยะนี้เอง มรรคทายกจะประกาศทั่วไปว่า ปีนี้ใครจะศรัทธาทำข้าวแช่บ้าง ซึ่งก็จะมีผู้รับทำหลายราย พอถึงวันนัดก็จะนำข้าวแช่และกับแกล้มบรรจุในภาชนะอย่างดีซึ่งเป็นของเก่า จัดใส่สาแหรกมีสาวงามหาบเดินไปวัด แต่งกายพื้นบ้านสวยงาม ถึงวัดเวลา ๑๑.๐๐ น. จัดถวายพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ฉันอิ่มแล้ว ก็ยกลงมาจัดเลี้ยงกันจนถึงเวลา ๑๓.๐๐ น. พระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อพระสงฆ์แสดงธรรมจบ ก็มีการสรงน้ำพระสงฆ์ในวัดทุกรูป จากนั้นจะมีการเล่นสงกรานต์ของหนุ่มสาวเป็นที่สนุกสนาน
๕) ประเพณีบุญสลากภัต ประเพณีบุญสลากภัต เป็นประเพณีทำบุญที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล คำว่า “สลากภัต” หมายถึงอาหารที่ถวายพระตามสลาก นิยมทำในช่วง เดือน ๖ จนถึงเดือน ๘ ซึ่งเป็นฤดูที่มีผลไม้อุดมสมบูรณ์ การทำบุญสลากภัตถือว่าเป็นการทำบุญที่ได้บุญมาก เนื่องจากเป็นการทำโดยไม่เจาะจง เมื่อพระรูปใดจับสลากได้สำรับชุดใด ก็จะฉันสำรับนั้น เจ้าภาพจะไม่มีการแสดงยินดียินร้ายแก่พระผู้รับ งานบุญสลากภัตของอำเภอตากฟ้า ถือว่าเป็นงานบุญสลากภัตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่วัดตากฟ้าได้จัดตามประเพณีมาเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ พระศรีสุทธิเวที (ริด ริตเวที ป.ธ.๙, กศ.ม.) หรือ เจ้าคุณริด เจ้าคณะอำเภอตากฟ้า และเจ้าอาวาสวัดตากฟ้า พระอารามหลวง เป็นผู้ริเริ่มสนับสนุนและส่งเสริมให้มีประเพณีบุญสลากภัตเป็นประเพณีประจำอำเภอตากฟ้า มาจนถึงปัจจุบันนี้
๖) ประเพณีตักบาตรเทียนโพธิ์ ประเพณีตักบาตรเทียนโพธิ์เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่มีเพียงหนึ่งเดียวของไทย จัดขึ้นที่บริเวณวัดเขาไม้เดน อำเภอพยุหะคีรี ซึ่งเป็นเมืองโบราณมาก่อนตั้งแต่อดีตกาล ชาวบ้านเก่าแก่ในพื้นที่จะเรียกที่นี่ว่า เมืองบน หลังจากนั้นก็มาต่อกับสถานที่ กลายเป็น เมืองบนเขาไม้เดน บ้าง เมืองบนโคกไม้เดนบ้าง จนบางทีก็สับสน สำหรับประเพณีตักบาตรเทียนโพธิ์ที่มีแห่งเดียวในไทยมีความพิเศษตรงที่การตักบาตร ชาวบ้านจะมาทำบุญเทียนที่อยู่ในพานที่ทางวัดจัดไว้ให้ เทียนหรือขี้ผึ้งจะหล่อมาเป็นรูปใบโพธิ์ นำใบโพธิ์เทียนนี้ไปใส่บาตร จะมีพระเดินบิณฑบาตรขึ้นไปบนยอดเขาที่มีเจดีย์อยู่ด้านบน จากนั้น จะทำการหล่อเทียนพรรษาด้วยเทียนรูปใบโพธิ์ที่ชาวบ้านนำมาใส่บาตร ประเพณีนี้จะจัดกันตอนเย็นก่อนวันเข้าพรรษา มีการแสดงแสง สี เสียง มีร้านค้ามาเปิดขายของมากมายตรงหน้าวัด ชาวบ้านจะมาร่วมทำบุญใส่บาตรเทียนโพธิ์แน่นวัด ยาวขึ้นไปตามขั้นบันไดเป็นภาพที่สวยงามทุก ๆ ปี
๗) เทศกาลหุ่นโคมไฟ จังหวัดนครสวรรค์ จัดงาน "เทศกาลหุ่นโคมไฟ" บริเวณลานมังกรทองอุทยานสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อนำเสนอความงดงามของศิลปะบนโคมไฟ มีการจัดอบรมและประกวดการประดิษฐ์ประติมากรรมโคมไฟ เพื่อส่งเสริมช่างฝีมือที่มีทักษะอาชีพการทำหุ่นโคมไฟจำนวนมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่มีความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนถึงเอกลักษณ์ของชุมชนชาวจีน จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ เทศกาลหุ่นโคมไฟนครสวรรค์ (Nakhonsawan Lantern Festival) ยังมีประติมากรรมหุ่นโคมไฟที่ผสานศิลปะ แสง สี ดนตรี ซึ่งยิ่งใหญ่ตระการตาที่สุดในภาคเหนือ
๘) ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีบุญบั้งไฟขอฝนของชาวอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ได้ปฏิบัติสืบทอดมาอย่างยาวนาน เนื่องจากชาวอีสานมาอาศัยอยู่มากกว่า ๘๕ เปอร์เซ็นต์ หลังอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและนำประเพณีบุญบั้งไฟเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ และประเพณีต่าง ๆ อย่างเช่น บุญบั้งไฟ ก็ได้นำเข้ามาเผยแผ่ จนได้รับความนิยมมาโดยตลอด และจะทำพิธีก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งมีความเชื่อกันว่า จะทำให้ฝนตกตามฤดูกาล และเป็นสัญญาณที่ดีว่า ฤดูกาลเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลแม่เปิน อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ จะร่วมกันจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟทุกปี ช่วงเดือนพฤษภาคม บริเวณอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม
๙) ประเพณีตักบาตรเทโว งานบุญประเพณีตักบาตรเทโว คือ การตักบาตรเนื่องในโอกาส ที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถือเป็นประเพณีนิยมที่พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา โดยเฉพาะจังหวัดนครสวรรค์ ได้จัดงานบุญประเพณีตักบาตรเทโวเป็นประจำทุกปี บริเวณหน้าพระจุฬามณีเจดีย์ ยอดเขากบ โดยมีขบวนนางฟ้าเดินนำพระสงฆ์ซึ่งเดินลงมาจากยอดเขากบทางบันได เรียงเป็นแถว เพื่อรับบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้งจากผู้มาร่วมทำบุญ นับเป็นการจัดงานบุญประเพณีตามเอกลักษณ์ ของชุมชนท้องถิ่น เป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่สืบไป
๑๐) ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวอำเภอท่าตะโก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา โดยชาวอำเภอท่าตะโกได้สืบสานประเพณีแห่เทียนพรรษามาจำนวนไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี ภายในงานมีการจัดตกแต่งต้นเทียนพรรษาเพื่อนำมาประกวดแข่งขันกัน การจัดงาน แห่เทียนพรรษา ประกอบด้วย ขบวนแห่พรรษาที่สวยงาม ยิ่งใหญ่ ภายในขบวนแห่มีกิจกรรมเทิดพระเกียรติ การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และกิจกรรมภูมิปัญญาชาวบ้าน ตลอดจนการออกร้านจำหน่ายสินค้ามากมาย
๑๑) ตามรอยเสด็จประพาสต้น จังหวัดนครสวรรค์ จัดงานตามรอยเสด็จประพาสต้น ทุกเดือนสิงหาคมของทุกปี ณ อำเภอที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จประพาสต้น จำนวน ๘ แห่ง ได้แก่ ๑. วัดพระปรางค์เหลือง อำเภอพยุหะคีรี ๒. วัดเกาะหงษ์ อำเภอเมืองฯ ๓. วัดหัวดงใต้ อำเภอเก้าเลี้ยว ๔. วัดเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว ๕. บึงหูกวาง อำเภอบรรพตพิสัย๖. วัดเขาหน่อ วัดบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย ๗. วัดเขาดินใต้ อำเภอเก้าเลี้ยว และ ๘. วัดศรีสุวรรณ (วัดเขื่อนแดง) อำเภอเมืองฯ เหตุที่เรียกว่า “ประพาสต้น” นั้น เนื่องจากเมื่อเวลาจะประพาสแล้วไม่อยากให้ใครรู้ว่าจะเสด็จไป เพื่อใกล้ชิดกับประชาราษฎร์มากขึ้น ในการเสด็จฯ จะทรงเรือมาดเก๋ง ๔ แจว ๑ ลำ แต่เรือลำเดียวไม่พอบรรทุกเครื่องครัว จึงทรงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจว ที่แม่น้ำอ้อมแขวง จังหวัดราชบุรี ๑ ลำ โปรดให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช เป็นผู้คุมเครื่องครัวไปในเรือนั้น เจ้าหมื่นเสมอใจราชมีชื่อเรียกว่า “อ้น” จึงทรงดำรัสเรียกเรือลำนั้นว่า “เรือตาอ้น” เรียกเร็ว ๆ จึงกลายเสียงเป็น “เรือต้น”
๑๒) ประเพณีลอยกระทง จังหวัดนครสวรรค์ จัดงานประเพณีลอยกระทงเป็นประจำทุกปีที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ได้แก่ ชุมชนบ้านหน้าผา อำเภอเมืองนครสวรรค์ จะนำกะลาที่เก็บสะสมไว้ตลอดทั้งปีมาทำความสะอาดและตกแต่งด้วยกระดาษสี ทำเทียนวางไว้กลางกะลา ไม่ใส่ดอกไม้ ธูปเทียนเหมือนกระทงทั่วไป เมื่อถึงวันลอยกระทง ชาวบ้านจะนำกระทงกะลาที่เตรียมไว้นับพันใบ มาจุดเทียนและปล่อยลงในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีจุดเริ่มตั้งแต่ หน้าศาลเจ้าแม่หน้าผา อำเภอเมืองนครสวรรค์ ปัจจุบัน จังหวัดนครสวรรค์ มีสถานที่จัดงานประเพณีลอยกระทงที่น่าสนใจ ได้แก่ อาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา “พาสาน” ตลาดวัฒนธรรม เช่น ตลาดเจ้าค่ะ ตลาดท่าเรือคลองคาง เป็นต้น
ประวัติสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ เดิมชื่อ เศรษฐการจังหวัด ขึ้นกับกระทรวงเศรษฐการ ได้เริ่มก่อตั้งที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อปี พ.ศ. 2481 โดยมี นายครื้น ทองถิ่น เป็นเศรษฐการจังหวัดคนแรก ได้เช่าบ้านเป็นที่ทำการสำนักงานฯ อยู่ถนนโกสีย์ใกล้กับวัดนครสวรรค์ และได้ย้ายที่ทำการจากถนนโกสีย์ มาอยู่ที่บ้านเลขที่ 155 ถนนสวรรค์วิถี ตรงข้ามธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด สาขานครสวรรค์ ปัจจุบันเป็นห้างวิถีเทพสรรพสินค้า จากกระทรวงเศรษฐการ เปลี่ยนชื่อมาเป็นกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2519 และได้เปลี่ยนชื่อสำนักงานเศรษฐการจังหวัด ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเมื่อปีงบประมาณ 2527 กระทรวงพาณิชย์ได้จัดสรรงบประมาณมาให้จัดสร้างอาคารสำนักงานพาณิชย์เป็นของตัวเองที่ตั้งปัจจุบัน คือ อาคารสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ เลขที่ 400/65 ถนนสวรรค์วิถี อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์